แปลงผักไฮโดรโปนิกส์ในฝัน – ระบบพ่นหมอกของโรงเรือนไฮโดรโปรนิกส์ ตอนที่ 8

ความเดิมจากตอนที่แล้ว

จากตอนที่ผ่านมา ได้ติดตั้งมุ้งและหลังพลาสติกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แปลงผักไฮโดรโปนิกส์ในฝัน – ติดตั้งมุ้งและหลังคาพลาสติกใสของโรงเรือนไฮโดรโปรนิกส์ ตอนที่ 7 ซึ่งทำให้โรงเรือนไฮโดรโปรนิกส์เป็นรูปร่างมากยิ่งขึ้น และก้าวหน้าสู่ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

ติดตั้งมุ้งและหลังคาพลาสติกใสของโรงเรือนไฮโดรโปรนิกส์

ติดตั้งมุ้งและหลังคาพลาสติกใสของโรงเรือนไฮโดรโปรนิกส์

 

อุณหภูมิกับการปลูกผักสลัด

เนื่องจากโรงเรือนไฮโดรโปรนิกส์เป็นแบบปิด มีมุ้งและหลังคา จึงทำให้มีอุณภูมิสูงขึ้นตามมา และด้วยตัวผักสลัดเองแล้วเป็นผักเมืองหนาว สิ่งที่จำเป็นมากๆ ที่สุดก็คือการลดอุณหภูมิให้เย็นขึ้น เนื่องจาก เมืองไทยมีอากาศที่ค่อนข้างไปทางร้อน แต่ผักสลัดไม่ชอบความร้อน แต่ชอบแสงแดด เราจึงจำเป็นต้องใช้ “การพ่นหมอก” เพื่อลดอุณหภูมิในโรงเรือน

 

อุปกรณ์ที่ใช้ทำระบบพ่นหมอก

ระบบพ่นหมอก แต่ล่ะอย่างต้องผ่านการคำนวณมาแล้วอย่างเช่น จำนวนหัวพ่นหมอก จะต้องใช้ปั้มแรงดันเท่าไหร่ เป็นต้น โดยจะมีอุปกรณ์หลักด้วยกันคือ 4 อย่างดังนี้

  • ชุดควบคุม เป็นหัวใจของระบบพ่นหมอก เพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างอัตโนมัติ โดยชุดควบคุมนี้ถ้าซื้อแบบสำเร็จรูปราคาจะอยู่ที่ 6,000-7,000 บาท โดยชุดควบคุมนี้ สามารถ กำหนดอุณหภูมิ ระยะเวลาพ่นหมอก  และระยะเวลาหน่วงในการพ่นหมอก
ชุดควบคุมการพ่นหมอก

ชุดควบคุมการพ่นหมอก

  • โซลินอยด์ วาว์ว เป็นตัวเปิด-ปิดทางไหลของน้ำโดยใช้ไฟฟ้า 12v, 24v หรือ 220v ควรเลือกเป็นแบบทองเหลืองเพราะจะสามารถทนแรงดันสูงได้
โซลินอยด์ วาว์ว และชุดกรอง

โซลินอยด์ วาว์ว และชุดกรอง

  • ปั้มน้ำแรงดันสูง ในการเลือกปั้มน้ำนั้น ต้องดูก่อนว่ามีหัวพ่นหมอกกี่หัว เพราะยิ่งหัวพ่นหมอกเยอะ ยิ่งต้องใช้ปั้มที่มีแรงดันสูง ตัวอย่างเช่นมีหัวพ่นหมอก 8 หัว ใช้ปั้มที่มีแรงดันประมาณ 2-3 บาร์ ขึ้นไป และปั้มน้ำจะมีอยู่ 2 ชนิดคือ
    – แบบมี pressure switch คือ ปั้มจะหยุดการทำงานเมื่อไม่มีการไหลของน้ำ โดยจะต้องจ่ายไฟให้ปั้มตลอดเวลา
    – แบบไม่มี pressure switch คือ ปั้มจะทำงานเมื่อมีการจ่ายไฟเข้าปั้ม
ปั้มแรงดัน

ปั้มแรงดัน

  • หัวพ่นหมอก ในส่วนของหัวพ่นหมอกแนะนำให้เลือกหัวพ่นหมอกที่ คุณภาพดี เพราะต้องทนต่อแรงดันสูง และแสงแดดที่อาจจะทำให้เสื่อมคุณภาพได้ สิ่งที่สำคัญของหัวพ่นหมอกคือ จะต้องมีตัวป้องกันน้ำหยด และสามารถถอดทำความสะอาดสิ่งอุดตันได้
ข้อคิดจากหัวพ่นหมอก

ข้อคิดจากหัวพ่นหมอก

 

หลักการทำงานของระบบพ่นหมอก

หลักการทำงานของระบบพ่นหมอกนั้น มีอยู่หลายวิธีการ แต่ที่เป็นที่นิยมกันมากที่สุดเลยก็คือ การใช้ เซนเซอร์วัดอุณหภูมิและการตั้งเวลา เข้าร่วมกัน โดยจะใช้ชุดควบคุมสำเร็จรูป หรือจะสามารถจัดทำขึ้นมาเองก็ได้ จะมีระบบการทำงานดังนี้

  1. ชุดควบคุมอ่านค่าอุณหภูมิจากเซนเซอร์วัด ว่าเกิน 30 องศาเซลเซียส หรือไม่
  2. ถ้าอุณหภูมิเกิน 30 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ชุดควบคุมจะสั่งให้ โซลินอยด์วาว์วทำงาน โดยเปิดให้น้ำไหลผ่าน
  3. เมื่อ โซลินอยด์วาว์วเปิด ปั้มน้ำจะทำงานอัตโนมัติ
  4. น้ำจากปั้มจะไหลผ่านเข้าสู่หัวพ่นหมอก
  5. ระยะเวลาในการพ่นหมอกจะขึ้นอยู่กับที่เราได้ตั้งไว้ที่ชุดควบคุม เช่น 1 นาที
  6. เมื่อพ่นหมอกครบตามเวลาที่ตั้งไว้ ชุดควบคุม จะหน่วงเวลา ตามที่เราได้ตั้งไว้ เช่น หน่วงเวลา 15 นาที
  7. เมื่อหน่วงเวลาครบตามที่ตั้งไว้แล้ว ระบบก็จะกลับมาตรวจสอบอุณหภูมิอีกครั้ง เข้าสู่ข้อ 1. อีกรอบ
ระบบพ่นหมอก

ระบบพ่นหมอก

 

พ่นหมอกได้แล้ว

ความประทับใจเมื่อเห็นระบบพ่นหมอกทำงาน ควรทดสอบให้มันทำงานเป็นไปอย่างที่เราได้ตั้งไว้เช่น หลอกเซนเซอร์ว่า อุณภูมิสูงขึ้น โดยเพิ่มอุณหภูมิที่เซนเซอร์ ทดสอบตั้งเวลา ให้ระบบทำงาน 2-3 วัน โดยไม่ให้เกิดปัญหาใดๆ สิ่งที่ควรดูเป็นพิเศษคือจุดต่อท่อต่างๆ ให้แน่น เพราะแรงดันในท่อจะสูง

 

ทุกสิ่งเราสามารถทำได้ ถ้าเราตั้งใจทำ

ของให้ทุกคนโชคดี

coachnong

 

error: Content is protected !!