โรคและแมลงศัตรูพืชไฮโดรโปนิกส์

โรคและแมลงศัตรูพืชไฮโดรโปนิกส์

ศัตรูพืชที่สำคัญสำหรับพืชที่ปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์ ได้แก่ โรค แมลง และวัชพืช ซึ่งการปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์มักพบปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลง ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของโรคมากกว่าแมลง การปลูกพืชในระบบไฮโดรโปนิกส์โดยเฉพาะในระบบปิดที่มีการใช้สารละลายธาตุอาหารหมุนเวียนอยู่ตลอด หากเกิดการระบาดของโรคจะก่อให้เกิดความเสียหายไปทั้งระบบ เนื่องจากเชื้อโรคจะติดกลับไปกับสารละลายธาตุอาหาร และพืชต่างก็ดูดสารละลายไปใช้ ก็จะทำให้ได้รับเชื้อด้วยเช่นกัน ซึ่งการป้องกันกำจัดโรคในระบบการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์โดยพื้นฐานมีดังนี้

  • ควรจัดการให้ระบบมีความปลอดเชื้อ สาเหตุของโรค และศัตรูพืชอื่นๆ มากที่สุด รวมทั้งวัสดุปลูกอุปกรณ์ต่างๆ น้ำ เมล็ดพันธุ์ ควรเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีเชื้อโรคปะปน
  • รักษาความสะอาดบริเวณที่ปลูกพืชให้สะอาดอยู่ตลอดเวลา
  • ก่อนปลูกพืชรุ่นต่อไป ต้องล้างทำความสะอาดอุปกรณ์รางปลูก ด้วยคลอรีนที่มีความเข้มข้น 5 มิลลิกรัมต่อลิตร ไหลผ่านเข้าไปในระบบเพื่อฆ่าเชื้อโรค
โรคและแมลงไฮโดรโปนิกส์

โรคและแมลงไฮโดรโปนิกส์

โรคที่พบบ่อยในการปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์ : โรครากเน่าและโคนเน่า

 เกิดจากเชื้อราพิเทียม โดยเชื้อราจะเข้าไปทำลาย ระบบรากฝอย รากแขนง และตามโคนต้น ทำให้พืชไม่สามารถลำเลียงน้ำและสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพืชได้ สังเกตอาการได้จากใบจะมีสีเหลืองซีด โดยเริ่มที่เส้นกลางใบก่อนแล้วลุกลามไปเรื่อยเรื่อยจากโคนใบไปถึงยอด และใบจะม้วนงอเมื่อโดนแดดจัดๆ ในตอนกลางวันหรือใบเหี่ยวคล้ายขาดน้ำ ใบจะร่วง กิ่งแห้ง ผลมีสีเหลือง ร่วงหล่นง่าย หากโรคลุกลาม จะทำให้พืชนั้นยืนต้นตาย

โรครากเน่าโคนเน่ามักเกิดขึ้นในฤดูร้อน เกิดได้ทั้งพืชที่ปลูกบนดินและพืชไร้ดิน โดยพืชไร้ดินเมื่อสารละลายธาตุอาหารที่ใช้เลี้ยงพืชมีอุณหภูมิสูงขึ้น จะส่งผลทำให้ปริมาณออกซิเจนในสารละลายลดลง จนเป็นเหตุให้รากพืชอ่อนแอ และทำให้เชื้อราพิเทียมเข้าเล่นงานได้ง่ายขึ้น

วิธีจัดการเมื่อพบการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่า

  • หากพบการระบาดให้เก็บต้นที่เป็นโรคออกจากระบบ และเปลี่ยนสารละลายธาตุอาหารใหม่ ปรับค่า EC ให้อยู่ในระดับต่ำประมาณ 1.1 – 1.2 และค่า pH ให้อยู่ที่ 6.5 – 7.0 เพื่อให้พืชซ่อมแซมรากที่ถูกทำลายไป แล้วให้ธาตุอาหารทางใบแทน เมื่อระบบรากกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ค่อยเพิ่มค่า EC ให้อยู่ในระดับเดิมที่เคยปลูก ปกติในฤดูร้อนควรตั้งค่า EC ในการปลูกผักสลัดที่ประมาณ 1.1 – 1.4 และควรเปลี่ยนน้ำใหม่ทุก 7 – 10 วัน บางฟาร์มอาจใช้เทคนิคในการปรับค่า EC ให้สูงในช่วงกลางคืนแล้วลดค่า EC ให้ต่ำในช่วงกลางวัน
  • ถ่ายสารละลายในถังออกให้หมดเพื่อช่วยลดเชื้อในสารละลาย
  • พรางแสงเพื่อช่วยลดการคายน้ำ และเป็นการลดกิจกรรมของรากพืชลง
  • ใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาลงไปในถังเก็บสารละลาย เพื่อให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเข้าไปช่วยกำจัดเชื้อพิเทียม และทำให้รากที่จะงอกขึ้นมาใหม่แข็งแรงขึ้น

โรคที่พบบ่อยในการปลูกพืชระบบให้ดูโปนิกส์ : โรคใบจุด

โรคใบจุด สามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดูโดยเฉพาะฤดูที่มีความชื้นในอากาศสูง เช่น ฤดูฝน แต่ในฤดูร้อนก็สามารถเกิดโรคใบจุดได้ โดยส่วนใหญ่มาจากการสเปรย์น้ำในแปลงปลูกมากเกินไป รวมถึงการระบายอากาศในแปลงปลูกไม่ดีทำให้เกิดโรคใบจุดได้

การป้องกัน และกำจัดโรคใบจุด

ลิดใบที่เป็นโรคออก และฉีดพ่นด้วยยาป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แคปแทน, ไซแนป, มาเนบ, เบนเลท สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ให้ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา ผสมน้ำฉีดพ่นก็ช่วยป้องกัน และกำจัดเชื้อราต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคใบจุดได้

ข้อมูลจากหนังสือไฮโดรโปนิกส์ฉบับชาวบ้าน

error: Content is protected !!