เชื้อไตรโคเดอร์มาใช้ป้องกันโรค

เชื้อไตรโคเดอร์มาคืออะไร?

เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ของเชื้อราโรคพืช โดยเชื้อราไตรโคเดอร์มา จะไปลดกิจกรรมการดำเนินชีวิตของเชื้อราโรคพืช เช่น ยับยั้งการเจริญเติบโต ยับยั้งการขยายพันธุ์ ด้วยกลไกสามประการคือ

  1. การทำร้ายโดยตรงโดยจะกินเชื้อราโรคพืชเป็นอาหาร
  2. การแก่งแย่งที่อยู่อาศัยและสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
  3. การสร้างสารปฏิชีวนะที่เป็นอันตรายต่อโรคพืชชนิดอื่น
เชื้อราไตรโคเดอร์มา

เชื้อราไตรโคเดอร์มา

นอกจากนี้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ยังมาช่วยกระตุ้นให้พืชสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคพืช กระตุ้นให้รากพืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ทำให้รากยาวและแข็งแรง และเมื่ออยู่ในดินจะสร้างสารที่ไปละลายธาตุอาหารในเม็ดหินและดินให้ละลายออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืช

เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ในดินทั่วไป มีหลายชนิด หลายสายพันธุ์ ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมโรคพืช โดยมุ่งเน้นไปที่เชื้อราโรคพืชที่เกิดจากดิน พบว่าสามารถควบคุมเชื้อราโรคพืชใดดีหลายชนิด เช่น เชื้อไฟทอปธอร่า, พิเทียม, ฟิวซาเรียม, สเรอโรเทียม, ไรซ็อคโทเนีย เป็นต้น ซึ่งเชื้อราเหล่านี้ เป็นสาเหตุของโรคพืชต่างๆ ได้แก่ โรครากเน่าโคนเน่า โรคผลเน่า โรคกล้าเน่ากล้ายุบ โรคเน่าระดับดิน โรคเหี่ยวในพืชตระกูลพริก โรคถอดฝักดาบของข้าว เป็นต้น

ปัจจุบันพบว่า นอกจากจะเป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อราโรคพืชที่อยู่ในดินแล้ว ยังสามารถใช้ในการป้องกันกำจัดเชื้อราโรคพืชในส่วนต่างๆของพืชที่อยู่เหนือดินได้ดีเช่นกัน เช่น โรคไหม้ในข้าว โรคแอนแทรกโนสในพริก เป็นต้น และมีแนวโน้มที่จะมีผลไปกระตุ้นให้พืชมีความต้านทานต่อเชื้อไวรัสโรคพืชได้อีกด้วย จึงนับว่าเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อการเกษตร

เชื้อราไตรโคเดอร์มาสด

เชื้อราไตรโคเดอร์มาสด

การใช้เชื้อราไตรโคเอดร์มามาควบคุมโรคพืช

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ควรใช้ในช่วงเวลาที่แดดอ่อนเหมือนกับชีวพันธุ์ชนิดอื่นๆ สามารถนำมาใช้ได้ทั้งด้านป้องกัน และรักษาโรค โดยมีวิธีการใช้ 3 วิธีดังนี้

  1. ใช้คลุกเมล็ดพืช หรือส่วนขยายพันธุ์ของพืชที่จะนำไปปลูกเช่น หัว เหง้า แง่ง กลีบ และอื่นๆ โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดเชื้อสดที่เจริญอยู่บนเมล็ดข้าวฟ่าง หรือ ข้าวเปลือกในอัตรา 1 ช้อนโต๊ะ / เมล็ด 1 กิโลกรัม
  2. ใส่เชื้อลงในดิน โดยการผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา กับลำละเอียด และปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายแล้วในอัตรา เชื้อสด 1 กิโลกรัม (2 ถุง) ลำ 5 กิโลกรัม และปุ๋ยหมัก 50 กิโลกรัม นำเชื้อคลุกเคล้ากับลำให้เข้ากันดีก่อน แล้วจึงผสมกับปุ๋ยหมัก หากปุ๋ยหมักแห้งเกินไปให้พรมน้ำให้มีความชื้นพอประมาณ หลังจากผสมแล้วให้ใช้หมดภายใน 1 วัน สามารถใช้ได้กับพืชทุกระยะการเจริญเติบโต
  3. วิธีผสมน้ำ ได้แก่การนำเชื้อสดไปละลายในน้ำเพื่อให้เกิดสปอร์ของเชื้อราหลุดจากเมล็ดลงไปในน้ำ กรองเอาเมล็ดออกแล้วนำน้ำที่ได้ไปใช้อัตราการใช้เชื้อ 1 กิโลกรัม (สองถุง) / น้ำ 100-200 ลิตร นำน้ำได้จากการที่เราละลายล้างสปอร์ไปใช้ดังนี้  ฉีดพ่นให้ทั่วต้นพืช เพื่อป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ที่อยู่บน ใบ ต้น กิ่ง หรือผล หรือใส่บัวรดน้ำไปรดที่ดินใช้กับโรครากเน่าโคนเน่า หรือปล่อยไปกับระบบน้ำหยดหรือสปิงเกอร์

ข้อมูลจากหนังสือผักไฮโดรโปนิกส์ฉบับชาวบ้าน

error: Content is protected !!